Wednesday, February 16, 2011

ปัญหาการศึกษาไทยที่เกิดจากผู้บริหารโรงเรียน 1

          ปัญหาการขาดความรับผิดชอบต่อนักเรียน
          ผู้บริหารโรงเรียนเป็นอีกต้นตอหนึ่งของปัญหาการศึกษาไทย ความรับผิดชอบต่อนักเรียนในองค์รวมนั้น นับได้ว่ามีน้อยมาก การเป็นผู้บริหารโรงเรียนที่ดีนั้น อันดับแรกต้องนึกถึงนักเรียนเป็นสำคัญ นักเรียนจะได้รับอะไร ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหาร แล้วสั่งการลงมาถึงครู หากได้ครูอาชีพแล้วก็ดีไป แต่หากได้คนที่แค่มาทำอาชีพครู ผู้บริหารโรงเรียนก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ นอกจากนี้ หากไม่ว่าการกระทำของตนเองส่งผลเสียต่อนักเรียน ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม ก็ไม่สมควรที่จะเป็นผู้บริหารอีกต่อไป
          ดังที่เคยกล่าวมาแล้วว่า ครูที่ละทิ้งหน้าที่ของตนเอง ผลเสียก็จะตกอยู่กับนักเรียน เป็นเรื่องที่รับไม่ได้อย่างมาก ที่คนเป็นครูสามารถปล่อยละทิ้งนักเรียนโดยไม่สนใจใยดี ตัวอย่างของครูศิ ที่โรงเรียนบ้านดอน ก็เป็นตัวอย่างของการละทิ้งหน้าที่ของครู แต่ว่าคนที่ต้องรับผิดชอบต่อนักเรียนไม่แพ้กัน ก็คงจะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอน ที่รับครูศิไปทำงานโดยไม่ได้ถามไถ่เลยว่า ครูศิตอนนั้นทำงานที่ไหนอยู่ สอนหนังสือหรือเปล่า ลาออกแล้วหรือยัง แล้วลาออกเมื่อไหร่ หากผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอนได้ถามคำถามเหล่านี้ แล้วสอบถามทางโรงเรียนเดิมของครูศิ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอน ก็คงจะทราบ และรู้ว่าควรจะรับครูศิเข้าทำงานได้เมื่อไหร่ หากเป็นอย่างนี้ ผลเสียที่เกิดขึ้นต่อนักเรียนก็คงจะไม่มี ขึ้นชื่อว่านักเรียนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนที่ไหน ก็คืออนาคตของชาติบ้านเมืองทั้งนั้น การกระทำที่ทำให้นักเรียนเสียหาย ก็เหมือนกับการกระทำที่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย แล้วอย่างนี้ การศึกษาไทย เมืองไทยจะเป็นอย่างไร อีกตัวอย่างหนึ่ง ก็มีครูสมมุติว่าชื่อ นาฬิกา ณ ตาดำ ได้มาสมัครเป็นครูที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง หลังจากที่โรงเรียนรับเข้าทำงานแล้ว อีกไม่กี่วันก็ไม่มาทำงานอีกเลย ปรากฎว่าได้ไปทำงานเป็นครูอัตราจ้างที่โรงเรียนวัดสันมูล(ชื่อสมมุติ) อำเภอสารภี เชียงใหม่ ลักษณะเช่นนี้ก็คล้ายๆกัน คือเป็นได้แค่คนที่ยึดอาชีพครู เวลาสมัครงาน ก็จะสมัครหลายๆที่ ถึงแม้ว่าได้ทำงานแล้ว หากมีที่อื่นเรียกแล้วคิดว่าดีกว่าก็จะไปทันที ปล่อยให้ผลเสียตกอยู่กับนักเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสันมูล ก็นับได้ว่าเป็นคนที่ทำร้ายนักเรียนทางอ้อมอีกคนหนึ่ง
          จากตัวอย่างข้างบนจะเห็นได้ว่า การกระทำต่างๆของผู้บริหาร หรือผู้อำนวยการโรงเรียนนั้น สามารถทำร้ายนักเรียนโดยอ้อมได้เช่นกัน การรับครูอัตราจ้างนั้นไม่ผิด แต่การส่งเสริมให้ครูละทิ้งนักเีรียนนั้น เป็นสิ่งที่ขัดต่อการเป็นผู้บริหารโรงเรียนอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น ปัจจุบันนอกจาก จริยธรรมของครูที่ตํ่าลงแล้ว จริยธรรมของผู้บริหารโรงเรียนในลักษณะนี้ก็ตํ่าลงด้วยเช่นกัน ใครที่ทำร้ายเด็กไทย ก็เหมือนทำร้ายเมืองไทยด้วยเช่นกัน

Friday, February 11, 2011

ปัญหาการศึกษาไทยที่เกิดจากครู 7

          ครูอาชีพ หรือแค่คนที่ยึดอาชีพครู

          สภาวะการศึกษาไทยในปัจจุบัน น่าเป็นห่วงในความเป็นครูไทย ดังที่ได้กล่าวมาในบทความก่อนหน้านี้แล้วว่า การทำตนให้เป็นครูนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ครูไทยในสมัยนี้ สนใจการพัฒนาการเรียนการสอนน้อยลง ความเป็นครูที่ดีนั้น ต้องเป็นครูอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นครูแค่ตอนที่อยู่ในโรงเรียน ครั้นพอออกนอกโรงเรียนแล้ว ก็สลัดคราบครูทิ้ง ออกไปเที่ยวตามสถานบันเทิงต่างๆ ที่ว่าสนใจการพัฒนาการเรียนการสอนน้อยลงนั้น เพราะครูคิดว่า มาทำงานสอนแค่ในเวลาเท่านั้น (เหมือนพนักงานบริษัท) บางคนสอนในเวลาให้น้อยหน่อย แล้วค่อยสอนพิเศษมากหน่อย ดังนั้นจึงมีเหตุการณ์ที่ว่า เรียนพิเศษกับครูคนนั้น คนนี้ แล้วทำให้ผลการเรียนดีขึ้น (ก็จะไม่ดีได้อย่างไร ก็ครูเป็นคนออกข้อสอบนี่) ซึ่งขาดจริยธรรม และความรับผิดชอบต่อเด็กโดยสิ้นเชิง เหมือนกับนักเรียนคือลูกค้าที่ต้องสูบเงินมาให้ได้ เด็กจะเป็นอย่างไร ฉันไม่สน ฉันติดหนี้เยอะ ขอฉันหาเงินมาได้ก็พอ ได้อ่านคำที่อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งของไทยได้กล่าวไว้ว่า
          "ครูอาชีพ คือ คนที่เป็นครูด้วยใจรัก เป็นครูด้วยจิตและวิญญาน มีความเป็นครูทุกลมหายใจ ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นครูที่รัก และหวงแหน ห่วงใย อาทรต่อนักเรียน ต่อศิษย์ดุจลูกในไส้ของตน จะทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ศิษย์เป็นคนดี ไม่ยินยอมให้ศิษย์เป็นคนไม่ดีเป็นอันขาด จะติดตามสอดส่องศิษย์ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยไม่ละทิ้ง และมีความสุขมากในการที่ได้เกิดมาเป็นครู รักเกียรติ เทิดทูนสถาบันครูอย่างภาคภูมิใจ
          อาชีพครู คือ คนที่มายึดการเป็นครูเป็นอาชีพ เพื่อให้ได้ค่าตอบแทน ขาดจิตวิญญานของความเป็นครู ซึ่งขณะนี้ครูของไทย มีลักษณะอาชีพครูเป็นจำนวนมาก ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข จะเป็นเงื่อนไขที่จะทำลายความหวัง ของการปฏิรูปการศึกษา เพราะครูคือความหวัง ที่จะนำสู่ความสำเร็จ ของการปฏิรูปการศึกษา"
          หากคนที่เป็นครูลองหลับตา นึกถึงความเป็นจริงของตนเองที่เป็นอยู่ แล้วนึกถึงสายตาของเด็กๆ ที่รอคอยกับความหวังที่จะได้รับจากครู ตนเองจะเป็นเงื่อนไขแบบใดในการปฏิรูปการศึกษาไทย เงื่อนไขในการทำลายการศึกษา หรือเงื่อนไขที่จะพัฒนาการศึกษาไทย
          ขอเป็นกำลังใจ และยกย่องครูอาชีพทุกคน

Tuesday, February 1, 2011

ปัญหาการศึกษาไทยที่เกิดจากครู 6

                ครูไทยไม่มีความรับผิดชอบ
          ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า บทความที่ผมเขียนทั้งหมด ไม่ได้กล่าวถึงว่าครูไทยทุกคนเป็นอย่างนี้ แต่จะพยายามกล่าวถึงครูไทยในปัจจุบันว่า เป็นต้นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้การศึกษาไทยล้มเหลว ตั้งแต่การคัดเลือกครูอัตราจ้าง ซึ่งมีการใช้เส้นใช้สาย คุณภาพของครูในปัจจุบัน แน่นอนว่า ครูไทยในปัจจุบันมีการศึกษาที่ดีขึ้น แต่ศีลธรรม จริยธรรมกลับตํ่าลง ครูปัจจุบันเหมือนกับพนักงานบริษัทไปทุกที ทำงานเพื่อเงินเดือนเป็นหลัก ความเสียสละที่จะมีให้กับนักเรียนก็น้อยลง บางคนจบมาก็ไปทำงานที่โรงเรียนเอกชนชั่วคราว พอถึงเวลาสอบบรรจุ หรือ สอบครูอัตราจ้างได้ก็สามารถที่จะไปทำงานที่ตนเองสอบได้ทันที โดยไม่ได้คิดว่า โรงเรียน หรือนักเรียน จะเป็นอย่างไร ถึงบอกได้ว่า ครูสมัยนี้ ความรับผิดชอบต่อนักเรียนน้อยลง ความเป็นครูน้อยลง หากจะบอกว่าที่ทำอย่างนี้เพราะอนาคตของตนเอง แต่อย่าลืมว่าแล้วอนาคตของนักเรียนล่ะ จะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีครูสอน ครูไปได้สิ่งที่ดีกว่า แต่นักเรียนจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ หลักสูตรครู 5 ปี หรือหลักสูตรวิชาชีพครู ไม่ได้คิดถึงตรงนี้บ้างหรือ แล้วตอนนี้ ยังคิดจะมีหลักสูตร 6 ปี ครูจบแลัวได้ปริญญาโท จะจบอะไรก็ช่าง ให้มีความเป็นครูก่อนไม่ดีกว่าหรือ แค่ที่ผ่านมา หลักสูตรครูสอนเน้นหนักทางวิชาการ ความเป็นคน ความเป็นครูไม่ได้บรรจุในหลักสูตรหรืออย่างไร อย่าลืมว่า ครูเป็นแม่พิมพ์ของชาติ หากครูขาดความรับผิดชอบ ขาดคุณธรรม จริยธรรมแล้ว จะสอนนักเรียนได้อย่างไร การทำงานครูไม่ใช่เรื่องยาก แต่การทำตนให้เป็นครูเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย 
           
               ยกตัวอย่างมีคนเคยเล่าให้ฟังว่าสมมติว่ามีครูคนหนึ่งชื่อ นางศิ ณ วงเครือ ใน จ.เชียงใหม่ เคยเป็นครูในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในอำเภอหนึ่ง สายใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีปัญหาทางการเงิน จนกระทั่งมีปัญหากับเครดิตบูโร แต่พอธนาคารออมสิน เปิดโอกาสให้ครูสามารถกู้เงินได้ ครูคนนี้ ก็ทำเรื่องกู้โดยใช้ครูในโรงเรียนเดียวกันเป็นผู้คํ้าประกัน เพื่อที่จะนำเงินมาเคลียร์กับเครดิตบูโร เหตุผลหลักเพราะ ในการสมัครครูอัตราจ้างต้องไม่ติดเครดิตบูโร หลังจากที่ธนาคารอนุมัติเงินกู้อีกสองวันผ่านมา ครูศิก็ลาออกโดยทันที แต่ว่าการลาออกนั้น ตามระเบียบต้องสามารถออกได้หลังจากวันที่ได้ลาออก สามสิบวัน ครูศิไม่ได้สนใจ เพราะแกได้รับทำงานเป็นครูอัตราจ้างที่โรงเรียนบ้านดอน หลังจากยื่นใบลาออกได้แปดวัน แกก็ไม่ได้ทำงานที่โรงเรียนเดิมอีกเลย ย้ายไปทำงานที่โรงเรียนบ้านดอนแห่งใหม่
          จากตัวอย่างข้างบน ครูสมัยนี้ไม่มีความรับผิดชอบต่อนักเรียนเลย พอคิดว่าที่แห่งใหม่ดีกว่า ก็จะไปทันที แล้วนักเรียนตาดำๆ ที่ไม่รู้เรื่องต้องมารับเคราะห์จากการขาดศีลธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบของครูเช่นนี้หรือ  ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาจัดการกับเรื่องนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะร่วมกันประณามการกระทำของครูประเภทนี้ เพราะจะให้ลูกหลานของเราอยู่ในการดูแลของครูประเภทนี้หรือ ช่วยกันเถอะครับเพื่อลูกหลานของเรา เพื่ออนาคตของเมืองไทย