Monday, January 24, 2011

ปัญหาการศึกษาไทยที่เกิดจากครู 5

           ปัญหาจากศีลธรรมและจริยธรรมครูไทย
                   ย้อน กลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2552 ซึ่ง ร.ศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้เปิดเผยถึงผล 5 อันดับจุดด้อยของครูคือ อันดับแรก 29.05% พฤติกรรม ไม่เหมาะสม มีการกระทำที่รุนแรง ขาดศีลธรรม จริยธรรม รองลงมา 20.73 % มีหนี้สินจำนวนมาก 20.57% ยึดติดกับแนวคิดแบบเดิมๆ 16.19% ขาดความเข้าใจในตัวผู้เรียนอย่างลึกซึ้ง และสุดท้าย 13.46% จรรยาบรรณความเป็นครูลดน้อยลง จะเห็นได้ว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับครูมากที่สุด ซึ่งก็คือ ศีลธรรม จริยธรรม กลับกลายเป็นจุดด้อยของครูมากที่สุด
                ได้มีโอกาสอ่านบทความ "ครูคือใครในวันนี้" โดย สำราญ เทพจันทร์ (เผยแพร่ในมติชนรายวัน วันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2554) มีใจความในตอนหนึ่งว่า "ในอดีตครูมี สถานะทางศีลธรรมสูงกว่าบุคคลทั่วไป และมีความสามารถยกระดับสถานะทางศีลธรรมบุคคลให้สูงขึ้น ครูจึงได้รับการยกย่องจากคนทั่วไป ครูในอุดมคติคือ ผู้ยกระดับฐานะทางศีลธรรมให้กับบุคคลหรือครูคือผู้สร้าง วิญญาณมนุษย์ ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายตำแหน่งทางคุณค่าที่เป็นนามธรรม แต่ครูที่อยู่ในระบบทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ เป็นลูกหลานชาวบ้านที่ถูกคณะเทคนิคการสอนและระบบราชการกลายสภาพให้เป็นชน ชั้นกลาง ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายตำแหน่งในทางมูลค่าทางวัตถุ การทำตำแหน่งทางวิชาการก็เป็นความต้องการทางวัตถุ สถานะของครูจึงเปลี่ยนจาก"คุณค่า"เป็น "มูลค่า"ตามกลไกขับเคลื่อนโลกสมัยใหม่ แม้ว่าคนส่วนหนึ่งตั้งข้อเรียกร้องทางคุณค่ากับครู นั่นคือ ต้องการให้ครูขัดเกลาให้ผู้เรียนเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่ความจริงแล้วข้อเรียกร้องนั้นผิวเผิน เป็นเพียงปัจจัยเสริมมิให้คนขัดแย้งกันในโลกของมูลค่าเท่านั้น ครูในสมัยปัจจุบันมีบทบาททางคุณค่าลดลงอย่างมาก"
            จากบทความ จากผลของสวนดุสิตโพลที่ออกมา ที่สำคัญ ผลของการแสดงออกของนักเรียนในปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นผลพวงมาจากครูส่วนหนึ่ง แม่พิมพ์ของชาติ นับว่าเป็นแม่แบบสำหรับนักเรียนส่วนหนึ่ง แน่นอนที่สุดเป็นผลพวงมาจากกระบบการบริหารงานตั้งแต่กระทรวงลงมา แน่นอนที่สุดเป็นผลพวงมาจากสังคมปัจจุบัน มาจากพ่อแม่ กระทั่งมาจากสื่อต่างๆ แต่ว่า ครูต้องเป็นผู้นำทางจิตวิญญานสำหรับนักเรียน หากครูขาดศีลธรรม จริยธรรม เมื่อใดแล้ว ก็อย่าหวังว่า นักเรียนทุกคนจะมีศีลธรรม และจริยธรรมไปได้เลย

1 comment: