Monday, January 24, 2011

ปัญหาการศึกษาไทยที่เกิดจากครู 5

           ปัญหาจากศีลธรรมและจริยธรรมครูไทย
                   ย้อน กลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2552 ซึ่ง ร.ศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้เปิดเผยถึงผล 5 อันดับจุดด้อยของครูคือ อันดับแรก 29.05% พฤติกรรม ไม่เหมาะสม มีการกระทำที่รุนแรง ขาดศีลธรรม จริยธรรม รองลงมา 20.73 % มีหนี้สินจำนวนมาก 20.57% ยึดติดกับแนวคิดแบบเดิมๆ 16.19% ขาดความเข้าใจในตัวผู้เรียนอย่างลึกซึ้ง และสุดท้าย 13.46% จรรยาบรรณความเป็นครูลดน้อยลง จะเห็นได้ว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับครูมากที่สุด ซึ่งก็คือ ศีลธรรม จริยธรรม กลับกลายเป็นจุดด้อยของครูมากที่สุด
                ได้มีโอกาสอ่านบทความ "ครูคือใครในวันนี้" โดย สำราญ เทพจันทร์ (เผยแพร่ในมติชนรายวัน วันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2554) มีใจความในตอนหนึ่งว่า "ในอดีตครูมี สถานะทางศีลธรรมสูงกว่าบุคคลทั่วไป และมีความสามารถยกระดับสถานะทางศีลธรรมบุคคลให้สูงขึ้น ครูจึงได้รับการยกย่องจากคนทั่วไป ครูในอุดมคติคือ ผู้ยกระดับฐานะทางศีลธรรมให้กับบุคคลหรือครูคือผู้สร้าง วิญญาณมนุษย์ ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายตำแหน่งทางคุณค่าที่เป็นนามธรรม แต่ครูที่อยู่ในระบบทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ เป็นลูกหลานชาวบ้านที่ถูกคณะเทคนิคการสอนและระบบราชการกลายสภาพให้เป็นชน ชั้นกลาง ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายตำแหน่งในทางมูลค่าทางวัตถุ การทำตำแหน่งทางวิชาการก็เป็นความต้องการทางวัตถุ สถานะของครูจึงเปลี่ยนจาก"คุณค่า"เป็น "มูลค่า"ตามกลไกขับเคลื่อนโลกสมัยใหม่ แม้ว่าคนส่วนหนึ่งตั้งข้อเรียกร้องทางคุณค่ากับครู นั่นคือ ต้องการให้ครูขัดเกลาให้ผู้เรียนเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่ความจริงแล้วข้อเรียกร้องนั้นผิวเผิน เป็นเพียงปัจจัยเสริมมิให้คนขัดแย้งกันในโลกของมูลค่าเท่านั้น ครูในสมัยปัจจุบันมีบทบาททางคุณค่าลดลงอย่างมาก"
            จากบทความ จากผลของสวนดุสิตโพลที่ออกมา ที่สำคัญ ผลของการแสดงออกของนักเรียนในปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นผลพวงมาจากครูส่วนหนึ่ง แม่พิมพ์ของชาติ นับว่าเป็นแม่แบบสำหรับนักเรียนส่วนหนึ่ง แน่นอนที่สุดเป็นผลพวงมาจากกระบบการบริหารงานตั้งแต่กระทรวงลงมา แน่นอนที่สุดเป็นผลพวงมาจากสังคมปัจจุบัน มาจากพ่อแม่ กระทั่งมาจากสื่อต่างๆ แต่ว่า ครูต้องเป็นผู้นำทางจิตวิญญานสำหรับนักเรียน หากครูขาดศีลธรรม จริยธรรม เมื่อใดแล้ว ก็อย่าหวังว่า นักเรียนทุกคนจะมีศีลธรรม และจริยธรรมไปได้เลย

ปัญหาการศึกษาไทยที่เกิดจากครู 4

          ปัญหาจากการพิจารณาเงินวิทยฐานะ หรือเลื่อนขั้น
      ปัญหาเกี่ยวกับการพิจารณาเงินวิทยฐานะค่อนข้างจะเป็นปัญหาที่สำคัญ สำหรับครูไทย จะสังเกตุได้ว่า ในการพิจารณาเงินวิทยฐานะ ยังเป็นการพิจารณาจากผลงาน ผ่านการที่ให้ครูเขียนผลงาน การสอบ และการรายงานเอกสาร ไม่ได้มาจากการดูที่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ทำให้มีการรับจ้างทำผลงาน หรือทำให้ครูใช้เวลาทุ่มเทให้กับการเขียนผลงานมาก เวลาที่จะต้องใช้ในการเตรียมการสอนหรือเวลาที่จะให้นักเรียนจึงลดลง ครูบางคนใช้เวลาในห้องเรียนในการเขียนผลงานเพื่อตัวเอง เพียงแค่ให้งานนักเรียนตอนเข้าห้อง ก็นับว่าเสร็จ นอกจากนี้ในการทำรายงาน หรือเขียนผลงาน ไม่สามารถทำในเวลาอันสั้นได้ เป็นผลให้ครูใช้เวลาที่ต้องใช้ในการสอน มาทำผลงานมาก ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนจึงลดลง ส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษา พัฒนาคุณภาพของนักเรียนในองค์รวม
      ปัญหาที่เกิดจากวิธีการนี้ (การเขียนรายงานผลงาน) เคยมีครูในโรงเรียนหลายคนถึงกับต้องลาพักร้อน เืพื่อที่จะได้มีเวลาเขียนผลงาน บางคนก็ประสพความสำเร็จ แต่บางคนก็ผิดหวัง ในรายที่ผิดหวังทำให้เสียกำลังใจในการสอนไปเลยก็มี แต่ทั้งนั้น ผลเสียที่เกิดมากที่สุดก็คงไม่พ้นผลเสียที่ตกอยู่กับนักเรียน ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของครูเหล่านี้ คำว่า "ครู" นั้นต้องตามมาด้วยความรับผิดชอบต่อนักเรียนอย่างสูง แล้วครูประเภทนี้ควรแล้วหรือที่จะได้ชื่อว่าเป็น "ครู"  

Monday, January 17, 2011

ปัญหาการศึกษาไทยที่เกิดจากครู 3

          ปัญหาจากการรับครูอัตราจ้าง
          ปัญหาจากการรับครูอัตราจ้าง ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่กัดกินระบบการศึกษาไทยมานาน การประกาศรับสมัคร หรือแม้กระทั่งการสอบ ยังคงเป็นแค่เพียงหลักเกณฑ์ที่ต้องทำให้ถูกต้องเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ก็เหมือนกับในวงการของราชการไทยทั่วๆไป มีเด็กฝาก เด็กเส้น ผลที่ได้จากการสอบนั้น ไม่ได้เอามาใช้ในการพิจารณารับครูอัตราจ้างแต่อย่างใด ทำให้ผู้ที่มาสมัครรายอื่นๆ ผู้ที่มีความสามารถที่แท้จริง ไม่ได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง และผู้ที่ฝาก หรือรับฝาก จนกระทั่งผู้ที่ถูกคัดเลือกให้เข้าเป็นครูอัตราจ้างนั้น ก็มิได้มีจิตสำนึกถึงความถูกต้อง ความยุติธรรมซักเท่าไร หากเป็นเช่นนี้แล้ว จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียนได้อย่างไร เพียงแค่ต้องการที่จะเข้าไปเป็นครูอัตราจ้างเ พื่อที่จะหาช่องทางในการบรรจุครูในภายหลัง จากการกระทำดังกล่าว ทำให้เกิดผลตามมาอีกมากมายต่อการศึกษาไทย ตั้งแต่การเสียงบประมาณในการว่าจ้างคนที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพ (เนื่องจากผู้ที่มีประสิทธิภาพกว่าถูกคัดออก) การเสียบุคลากรที่มีคุณภาพ (เนื่องจากเลือกคนจากเส้นสายเข้าไป) การได้คนที่ขาดคุณธรรม จริยธรรม และความยุติธรรม เข้ามา นอกจากนี้ หากครูคนใดที่สอนอยู่โรงเรียนเอกชนอยู่แล้ว พอได้รับการเรียกตัวให้ไปเป็นครูอัตราจ้างแล้ว ก็มักจะละทิ้งที่เดิมไปที่ใหม่ โดยไม่ได้สนใจว่าจะมีผลกระทบต่อนักเรียนแต่อย่างใด และเนื่องด้วยเหตุนี้ การรับครูอัตราจ้าง ก็จะได้คนที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อนักเรียนอีกด้วย
          ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพของครูได้อีกด้วย การศึกษาไทยจะได้พัฒนาอย่างยั่งยืน 

Sunday, January 16, 2011

ปัญหาการศึกษาไทยที่เกิดจากครู 2

          นอกจากปัญหาในการเลือกคณะของนักเรียน ซึ่งเป็นค่านิยมที่มีมานานแล้ว ปัญหาที่ตามมาก็คือ ปัญหาการขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ
          ปัญหาการขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ
          ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า คนเก่งๆมักไม่ค่อยสนใจมาเป็นครู เพราะว่ามีงานอื่นที่ดีกว่า สามารถทำเงินได้ดีกว่า มีค่าตอบแทนที่ดีกว่า ทำให้สถาบันการศึกษาต้องรับคนที่มีผลการเรียนตํ่ามาเป็นครู การเป็นครูกลายเป็นอาชีพแบบราชการหรือพนักงานบริษัททั่วไป ครูไม่ได้พอใจหรือมีความสุขในความเป็นครูมากนัก เพราะเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบสูง งานหนัก ซํ้าซาก และได้ค่าตอบแทนตํ่า เลยทำให้คุณภาพครูโดยรวมแล้วอยู่ในเกณฑ์ตํ่า นอกจากนี้ความก้าวหน้าในอาชีพของตนเองค่อนข้างจะยาก โดยเฉพาะครูโรงเรียนเอกชน ซึ่งการหาครูที่มีคุณภาพยิ่งยากขึ้นไปอีก เนื่องจากครูที่พอจะมีโอกาส มักจะไปเป็นครูอัตราจ้าง หรือไปสอบเพื่อที่จะบรรจุเป็นครูของรัฐบาล อีกทั้งในการผลิตครูของสถาบันการศึกษา สายคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ก็ยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงเรียน ซึ่งยังคงขาดอีกมาก หากจะลองย้อนกลับไปที่เรื่องคนเก่งๆมักไม่ค่อยสนใจมาเป็นครูแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่า คนเก่งๆที่ว่า มักจะเป็นคนที่เก่งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเราถึงขาดแคลนครูคณิตศาสตร์ กับวิทยาศาสตร์
          เป็นความต่อเนื่องมาจากค่านิยม ทำให้เราถึงขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ อันที่จริง เราไม่จำเป็นที่จะต้องเอาคนเก่งมาเป็นครูทั้งหมด หากคนเก่งแค่บางส่วนตั้งใจที่จะเป็นครูแล้ว คุณภาพครูก็จะดีขึ้น ส่งผลให้คุณภาพผู้เรียนดีขึ้นด้วย ยังไงก็แล้วแต่ ได้กล่าวมาแล้วว่ายังคงมีองค์ประกอบอื่นๆอยู่อีกมาก ที่จะทำให้เราได้ครูดี มีคุณภาพ อย่างที่ทุกคนต้องการ

Saturday, January 15, 2011

ปัญหาการศึกษาไทยที่เกิดจากครู 1

          ปัญหาความล้มเหลวของการศึกษาไทยส่วนหนึ่งต้องยอมรับกันว่าเกิดมาจากครู ตั้งแต่ค่านิยมจนกระทั่งถึงความรับผิดชอบของครู ซึ่งจะได้กล่าวถึงปัญหาเป็นด้านๆไป
          ปัญหาจากค่านิยม
          ในการสอบแข่งขันคัดเลือกเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เท่าที่ผ่านมา ค่านิยมในการเลือกคณะ นักเรียนที่เรียนดี เรียนเก่ง มักจะมีแนวคิดในการเลือกคณะแพทย์ศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เป็นอันดับต้นๆ ส่วนที่เลือกเรียนครูนั้นแทบจะไม่มี (อาจบอกได้ว่าไม่มีเลย) ส่วนจะให้นักเรียนที่เรียนไม่เก่งมาสอบแข่งขัน สู้กับนักเรียนที่เรียนเก่งแล้วก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นที่กล่าวขานกันว่า นักเรียนที่เรียนอะไรไม่ได้จึงเข้าเรียนครู ทำให้ภาพลักษณ์ของครู และคุณภาพการศึกษาตกตํ่าลงมาก (รุ่ง แก้วแดง, 2544 :131)
          จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่เกิดมาจากค่านิยมนั้นเป็นปัญหาที่สำคัญปัญหาหนึ่งของครู ของการศึกษาไทย เลยทีเดียว หากเราสามารถปรับเปลี่ยนค่านิยมในการเลือกเรียนได้บ้าง การศึกษาไทยก็อาจจะดีขึ้น แต่ก็คงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นที่จะเข้ามาเสริมด้วย เช่น เงินเดือน และสวัสดิการต่างๆ เป็นต้น

Thursday, January 13, 2011

การศึกษาไทย

          น่าแปลกที่การแข่งขันโอลิมปิกทางวิชาการที่ผ่านๆมา นักเรียนไทยสามารถคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันมากมายหลายประเภท แต่ว่าผลสัมฤทธิ์การศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยรวมแล้ว เราได้คะแนนต่ำกว่าประเทศอื่นๆ นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับนานาประเทศแล้วจะพบว่า การจัดการศึกษาของประเทศไทยที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณในการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการสูงมาก แต่ผลสัมฤทธิ์กลับน้อยกว่าทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ ซึ่งจากผลการประเมินความสามารถในการแข่งขันนานาชาติของ IMD (International Institute for Management Development) ได้จัดอันดับให้การศึกษาไทยมีคุณภาพอยู่ในลำดับที่ 46 จาก 60 ประเทศ (โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย, 2550 : 7) สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้ได้ว่า แท้จริงแล้วการศึกษาไทยเราเป็นอย่างไร การดำเนินการจัดการศึกษาของไทยแทบจะบอกได้ว่าล้มเหลวมาโดยตลอด
          ปัญหาความล้มเหลวของการศึกษาไทย อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาที่มาจากครูผู้สอน ปัญหาจากระบบอุปถัมป์ในการรับครูอัตราจ้างหรือบรรจุครู ปัญหาจากการบริหารงานทั้งระดับประเทศจนถึงระดับสถานศึกษา รวมทั้งปัญหาจากสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเด็ก เช่นปัญหาจากครอบครัว ปัญหาที่เกิดจากสื่อ เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้ไม่ได้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของใครโดยตรง แต่เป็นหน้าที่ของทุกๆคน เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา รวมทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชนต่างๆ
          ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกคนจะร่วมมือกันในการแก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ เยาวชนคืออนาคตของชาติ ช่วยกันมอบสิ่งดีๆให้พวกเขาเถอะ