Wednesday, February 16, 2011

ปัญหาการศึกษาไทยที่เกิดจากผู้บริหารโรงเรียน 1

          ปัญหาการขาดความรับผิดชอบต่อนักเรียน
          ผู้บริหารโรงเรียนเป็นอีกต้นตอหนึ่งของปัญหาการศึกษาไทย ความรับผิดชอบต่อนักเรียนในองค์รวมนั้น นับได้ว่ามีน้อยมาก การเป็นผู้บริหารโรงเรียนที่ดีนั้น อันดับแรกต้องนึกถึงนักเรียนเป็นสำคัญ นักเรียนจะได้รับอะไร ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหาร แล้วสั่งการลงมาถึงครู หากได้ครูอาชีพแล้วก็ดีไป แต่หากได้คนที่แค่มาทำอาชีพครู ผู้บริหารโรงเรียนก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ นอกจากนี้ หากไม่ว่าการกระทำของตนเองส่งผลเสียต่อนักเรียน ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม ก็ไม่สมควรที่จะเป็นผู้บริหารอีกต่อไป
          ดังที่เคยกล่าวมาแล้วว่า ครูที่ละทิ้งหน้าที่ของตนเอง ผลเสียก็จะตกอยู่กับนักเรียน เป็นเรื่องที่รับไม่ได้อย่างมาก ที่คนเป็นครูสามารถปล่อยละทิ้งนักเรียนโดยไม่สนใจใยดี ตัวอย่างของครูศิ ที่โรงเรียนบ้านดอน ก็เป็นตัวอย่างของการละทิ้งหน้าที่ของครู แต่ว่าคนที่ต้องรับผิดชอบต่อนักเรียนไม่แพ้กัน ก็คงจะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอน ที่รับครูศิไปทำงานโดยไม่ได้ถามไถ่เลยว่า ครูศิตอนนั้นทำงานที่ไหนอยู่ สอนหนังสือหรือเปล่า ลาออกแล้วหรือยัง แล้วลาออกเมื่อไหร่ หากผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอนได้ถามคำถามเหล่านี้ แล้วสอบถามทางโรงเรียนเดิมของครูศิ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอน ก็คงจะทราบ และรู้ว่าควรจะรับครูศิเข้าทำงานได้เมื่อไหร่ หากเป็นอย่างนี้ ผลเสียที่เกิดขึ้นต่อนักเรียนก็คงจะไม่มี ขึ้นชื่อว่านักเรียนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนที่ไหน ก็คืออนาคตของชาติบ้านเมืองทั้งนั้น การกระทำที่ทำให้นักเรียนเสียหาย ก็เหมือนกับการกระทำที่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย แล้วอย่างนี้ การศึกษาไทย เมืองไทยจะเป็นอย่างไร อีกตัวอย่างหนึ่ง ก็มีครูสมมุติว่าชื่อ นาฬิกา ณ ตาดำ ได้มาสมัครเป็นครูที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง หลังจากที่โรงเรียนรับเข้าทำงานแล้ว อีกไม่กี่วันก็ไม่มาทำงานอีกเลย ปรากฎว่าได้ไปทำงานเป็นครูอัตราจ้างที่โรงเรียนวัดสันมูล(ชื่อสมมุติ) อำเภอสารภี เชียงใหม่ ลักษณะเช่นนี้ก็คล้ายๆกัน คือเป็นได้แค่คนที่ยึดอาชีพครู เวลาสมัครงาน ก็จะสมัครหลายๆที่ ถึงแม้ว่าได้ทำงานแล้ว หากมีที่อื่นเรียกแล้วคิดว่าดีกว่าก็จะไปทันที ปล่อยให้ผลเสียตกอยู่กับนักเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสันมูล ก็นับได้ว่าเป็นคนที่ทำร้ายนักเรียนทางอ้อมอีกคนหนึ่ง
          จากตัวอย่างข้างบนจะเห็นได้ว่า การกระทำต่างๆของผู้บริหาร หรือผู้อำนวยการโรงเรียนนั้น สามารถทำร้ายนักเรียนโดยอ้อมได้เช่นกัน การรับครูอัตราจ้างนั้นไม่ผิด แต่การส่งเสริมให้ครูละทิ้งนักเีรียนนั้น เป็นสิ่งที่ขัดต่อการเป็นผู้บริหารโรงเรียนอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น ปัจจุบันนอกจาก จริยธรรมของครูที่ตํ่าลงแล้ว จริยธรรมของผู้บริหารโรงเรียนในลักษณะนี้ก็ตํ่าลงด้วยเช่นกัน ใครที่ทำร้ายเด็กไทย ก็เหมือนทำร้ายเมืองไทยด้วยเช่นกัน

Friday, February 11, 2011

ปัญหาการศึกษาไทยที่เกิดจากครู 7

          ครูอาชีพ หรือแค่คนที่ยึดอาชีพครู

          สภาวะการศึกษาไทยในปัจจุบัน น่าเป็นห่วงในความเป็นครูไทย ดังที่ได้กล่าวมาในบทความก่อนหน้านี้แล้วว่า การทำตนให้เป็นครูนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ครูไทยในสมัยนี้ สนใจการพัฒนาการเรียนการสอนน้อยลง ความเป็นครูที่ดีนั้น ต้องเป็นครูอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นครูแค่ตอนที่อยู่ในโรงเรียน ครั้นพอออกนอกโรงเรียนแล้ว ก็สลัดคราบครูทิ้ง ออกไปเที่ยวตามสถานบันเทิงต่างๆ ที่ว่าสนใจการพัฒนาการเรียนการสอนน้อยลงนั้น เพราะครูคิดว่า มาทำงานสอนแค่ในเวลาเท่านั้น (เหมือนพนักงานบริษัท) บางคนสอนในเวลาให้น้อยหน่อย แล้วค่อยสอนพิเศษมากหน่อย ดังนั้นจึงมีเหตุการณ์ที่ว่า เรียนพิเศษกับครูคนนั้น คนนี้ แล้วทำให้ผลการเรียนดีขึ้น (ก็จะไม่ดีได้อย่างไร ก็ครูเป็นคนออกข้อสอบนี่) ซึ่งขาดจริยธรรม และความรับผิดชอบต่อเด็กโดยสิ้นเชิง เหมือนกับนักเรียนคือลูกค้าที่ต้องสูบเงินมาให้ได้ เด็กจะเป็นอย่างไร ฉันไม่สน ฉันติดหนี้เยอะ ขอฉันหาเงินมาได้ก็พอ ได้อ่านคำที่อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งของไทยได้กล่าวไว้ว่า
          "ครูอาชีพ คือ คนที่เป็นครูด้วยใจรัก เป็นครูด้วยจิตและวิญญาน มีความเป็นครูทุกลมหายใจ ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นครูที่รัก และหวงแหน ห่วงใย อาทรต่อนักเรียน ต่อศิษย์ดุจลูกในไส้ของตน จะทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ศิษย์เป็นคนดี ไม่ยินยอมให้ศิษย์เป็นคนไม่ดีเป็นอันขาด จะติดตามสอดส่องศิษย์ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยไม่ละทิ้ง และมีความสุขมากในการที่ได้เกิดมาเป็นครู รักเกียรติ เทิดทูนสถาบันครูอย่างภาคภูมิใจ
          อาชีพครู คือ คนที่มายึดการเป็นครูเป็นอาชีพ เพื่อให้ได้ค่าตอบแทน ขาดจิตวิญญานของความเป็นครู ซึ่งขณะนี้ครูของไทย มีลักษณะอาชีพครูเป็นจำนวนมาก ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข จะเป็นเงื่อนไขที่จะทำลายความหวัง ของการปฏิรูปการศึกษา เพราะครูคือความหวัง ที่จะนำสู่ความสำเร็จ ของการปฏิรูปการศึกษา"
          หากคนที่เป็นครูลองหลับตา นึกถึงความเป็นจริงของตนเองที่เป็นอยู่ แล้วนึกถึงสายตาของเด็กๆ ที่รอคอยกับความหวังที่จะได้รับจากครู ตนเองจะเป็นเงื่อนไขแบบใดในการปฏิรูปการศึกษาไทย เงื่อนไขในการทำลายการศึกษา หรือเงื่อนไขที่จะพัฒนาการศึกษาไทย
          ขอเป็นกำลังใจ และยกย่องครูอาชีพทุกคน

Tuesday, February 1, 2011

ปัญหาการศึกษาไทยที่เกิดจากครู 6

                ครูไทยไม่มีความรับผิดชอบ
          ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า บทความที่ผมเขียนทั้งหมด ไม่ได้กล่าวถึงว่าครูไทยทุกคนเป็นอย่างนี้ แต่จะพยายามกล่าวถึงครูไทยในปัจจุบันว่า เป็นต้นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้การศึกษาไทยล้มเหลว ตั้งแต่การคัดเลือกครูอัตราจ้าง ซึ่งมีการใช้เส้นใช้สาย คุณภาพของครูในปัจจุบัน แน่นอนว่า ครูไทยในปัจจุบันมีการศึกษาที่ดีขึ้น แต่ศีลธรรม จริยธรรมกลับตํ่าลง ครูปัจจุบันเหมือนกับพนักงานบริษัทไปทุกที ทำงานเพื่อเงินเดือนเป็นหลัก ความเสียสละที่จะมีให้กับนักเรียนก็น้อยลง บางคนจบมาก็ไปทำงานที่โรงเรียนเอกชนชั่วคราว พอถึงเวลาสอบบรรจุ หรือ สอบครูอัตราจ้างได้ก็สามารถที่จะไปทำงานที่ตนเองสอบได้ทันที โดยไม่ได้คิดว่า โรงเรียน หรือนักเรียน จะเป็นอย่างไร ถึงบอกได้ว่า ครูสมัยนี้ ความรับผิดชอบต่อนักเรียนน้อยลง ความเป็นครูน้อยลง หากจะบอกว่าที่ทำอย่างนี้เพราะอนาคตของตนเอง แต่อย่าลืมว่าแล้วอนาคตของนักเรียนล่ะ จะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีครูสอน ครูไปได้สิ่งที่ดีกว่า แต่นักเรียนจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ หลักสูตรครู 5 ปี หรือหลักสูตรวิชาชีพครู ไม่ได้คิดถึงตรงนี้บ้างหรือ แล้วตอนนี้ ยังคิดจะมีหลักสูตร 6 ปี ครูจบแลัวได้ปริญญาโท จะจบอะไรก็ช่าง ให้มีความเป็นครูก่อนไม่ดีกว่าหรือ แค่ที่ผ่านมา หลักสูตรครูสอนเน้นหนักทางวิชาการ ความเป็นคน ความเป็นครูไม่ได้บรรจุในหลักสูตรหรืออย่างไร อย่าลืมว่า ครูเป็นแม่พิมพ์ของชาติ หากครูขาดความรับผิดชอบ ขาดคุณธรรม จริยธรรมแล้ว จะสอนนักเรียนได้อย่างไร การทำงานครูไม่ใช่เรื่องยาก แต่การทำตนให้เป็นครูเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย 
           
               ยกตัวอย่างมีคนเคยเล่าให้ฟังว่าสมมติว่ามีครูคนหนึ่งชื่อ นางศิ ณ วงเครือ ใน จ.เชียงใหม่ เคยเป็นครูในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในอำเภอหนึ่ง สายใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีปัญหาทางการเงิน จนกระทั่งมีปัญหากับเครดิตบูโร แต่พอธนาคารออมสิน เปิดโอกาสให้ครูสามารถกู้เงินได้ ครูคนนี้ ก็ทำเรื่องกู้โดยใช้ครูในโรงเรียนเดียวกันเป็นผู้คํ้าประกัน เพื่อที่จะนำเงินมาเคลียร์กับเครดิตบูโร เหตุผลหลักเพราะ ในการสมัครครูอัตราจ้างต้องไม่ติดเครดิตบูโร หลังจากที่ธนาคารอนุมัติเงินกู้อีกสองวันผ่านมา ครูศิก็ลาออกโดยทันที แต่ว่าการลาออกนั้น ตามระเบียบต้องสามารถออกได้หลังจากวันที่ได้ลาออก สามสิบวัน ครูศิไม่ได้สนใจ เพราะแกได้รับทำงานเป็นครูอัตราจ้างที่โรงเรียนบ้านดอน หลังจากยื่นใบลาออกได้แปดวัน แกก็ไม่ได้ทำงานที่โรงเรียนเดิมอีกเลย ย้ายไปทำงานที่โรงเรียนบ้านดอนแห่งใหม่
          จากตัวอย่างข้างบน ครูสมัยนี้ไม่มีความรับผิดชอบต่อนักเรียนเลย พอคิดว่าที่แห่งใหม่ดีกว่า ก็จะไปทันที แล้วนักเรียนตาดำๆ ที่ไม่รู้เรื่องต้องมารับเคราะห์จากการขาดศีลธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบของครูเช่นนี้หรือ  ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาจัดการกับเรื่องนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะร่วมกันประณามการกระทำของครูประเภทนี้ เพราะจะให้ลูกหลานของเราอยู่ในการดูแลของครูประเภทนี้หรือ ช่วยกันเถอะครับเพื่อลูกหลานของเรา เพื่ออนาคตของเมืองไทย

Monday, January 24, 2011

ปัญหาการศึกษาไทยที่เกิดจากครู 5

           ปัญหาจากศีลธรรมและจริยธรรมครูไทย
                   ย้อน กลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2552 ซึ่ง ร.ศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้เปิดเผยถึงผล 5 อันดับจุดด้อยของครูคือ อันดับแรก 29.05% พฤติกรรม ไม่เหมาะสม มีการกระทำที่รุนแรง ขาดศีลธรรม จริยธรรม รองลงมา 20.73 % มีหนี้สินจำนวนมาก 20.57% ยึดติดกับแนวคิดแบบเดิมๆ 16.19% ขาดความเข้าใจในตัวผู้เรียนอย่างลึกซึ้ง และสุดท้าย 13.46% จรรยาบรรณความเป็นครูลดน้อยลง จะเห็นได้ว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับครูมากที่สุด ซึ่งก็คือ ศีลธรรม จริยธรรม กลับกลายเป็นจุดด้อยของครูมากที่สุด
                ได้มีโอกาสอ่านบทความ "ครูคือใครในวันนี้" โดย สำราญ เทพจันทร์ (เผยแพร่ในมติชนรายวัน วันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2554) มีใจความในตอนหนึ่งว่า "ในอดีตครูมี สถานะทางศีลธรรมสูงกว่าบุคคลทั่วไป และมีความสามารถยกระดับสถานะทางศีลธรรมบุคคลให้สูงขึ้น ครูจึงได้รับการยกย่องจากคนทั่วไป ครูในอุดมคติคือ ผู้ยกระดับฐานะทางศีลธรรมให้กับบุคคลหรือครูคือผู้สร้าง วิญญาณมนุษย์ ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายตำแหน่งทางคุณค่าที่เป็นนามธรรม แต่ครูที่อยู่ในระบบทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ เป็นลูกหลานชาวบ้านที่ถูกคณะเทคนิคการสอนและระบบราชการกลายสภาพให้เป็นชน ชั้นกลาง ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายตำแหน่งในทางมูลค่าทางวัตถุ การทำตำแหน่งทางวิชาการก็เป็นความต้องการทางวัตถุ สถานะของครูจึงเปลี่ยนจาก"คุณค่า"เป็น "มูลค่า"ตามกลไกขับเคลื่อนโลกสมัยใหม่ แม้ว่าคนส่วนหนึ่งตั้งข้อเรียกร้องทางคุณค่ากับครู นั่นคือ ต้องการให้ครูขัดเกลาให้ผู้เรียนเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่ความจริงแล้วข้อเรียกร้องนั้นผิวเผิน เป็นเพียงปัจจัยเสริมมิให้คนขัดแย้งกันในโลกของมูลค่าเท่านั้น ครูในสมัยปัจจุบันมีบทบาททางคุณค่าลดลงอย่างมาก"
            จากบทความ จากผลของสวนดุสิตโพลที่ออกมา ที่สำคัญ ผลของการแสดงออกของนักเรียนในปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นผลพวงมาจากครูส่วนหนึ่ง แม่พิมพ์ของชาติ นับว่าเป็นแม่แบบสำหรับนักเรียนส่วนหนึ่ง แน่นอนที่สุดเป็นผลพวงมาจากกระบบการบริหารงานตั้งแต่กระทรวงลงมา แน่นอนที่สุดเป็นผลพวงมาจากสังคมปัจจุบัน มาจากพ่อแม่ กระทั่งมาจากสื่อต่างๆ แต่ว่า ครูต้องเป็นผู้นำทางจิตวิญญานสำหรับนักเรียน หากครูขาดศีลธรรม จริยธรรม เมื่อใดแล้ว ก็อย่าหวังว่า นักเรียนทุกคนจะมีศีลธรรม และจริยธรรมไปได้เลย

ปัญหาการศึกษาไทยที่เกิดจากครู 4

          ปัญหาจากการพิจารณาเงินวิทยฐานะ หรือเลื่อนขั้น
      ปัญหาเกี่ยวกับการพิจารณาเงินวิทยฐานะค่อนข้างจะเป็นปัญหาที่สำคัญ สำหรับครูไทย จะสังเกตุได้ว่า ในการพิจารณาเงินวิทยฐานะ ยังเป็นการพิจารณาจากผลงาน ผ่านการที่ให้ครูเขียนผลงาน การสอบ และการรายงานเอกสาร ไม่ได้มาจากการดูที่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ทำให้มีการรับจ้างทำผลงาน หรือทำให้ครูใช้เวลาทุ่มเทให้กับการเขียนผลงานมาก เวลาที่จะต้องใช้ในการเตรียมการสอนหรือเวลาที่จะให้นักเรียนจึงลดลง ครูบางคนใช้เวลาในห้องเรียนในการเขียนผลงานเพื่อตัวเอง เพียงแค่ให้งานนักเรียนตอนเข้าห้อง ก็นับว่าเสร็จ นอกจากนี้ในการทำรายงาน หรือเขียนผลงาน ไม่สามารถทำในเวลาอันสั้นได้ เป็นผลให้ครูใช้เวลาที่ต้องใช้ในการสอน มาทำผลงานมาก ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนจึงลดลง ส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษา พัฒนาคุณภาพของนักเรียนในองค์รวม
      ปัญหาที่เกิดจากวิธีการนี้ (การเขียนรายงานผลงาน) เคยมีครูในโรงเรียนหลายคนถึงกับต้องลาพักร้อน เืพื่อที่จะได้มีเวลาเขียนผลงาน บางคนก็ประสพความสำเร็จ แต่บางคนก็ผิดหวัง ในรายที่ผิดหวังทำให้เสียกำลังใจในการสอนไปเลยก็มี แต่ทั้งนั้น ผลเสียที่เกิดมากที่สุดก็คงไม่พ้นผลเสียที่ตกอยู่กับนักเรียน ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของครูเหล่านี้ คำว่า "ครู" นั้นต้องตามมาด้วยความรับผิดชอบต่อนักเรียนอย่างสูง แล้วครูประเภทนี้ควรแล้วหรือที่จะได้ชื่อว่าเป็น "ครู"  

Monday, January 17, 2011

ปัญหาการศึกษาไทยที่เกิดจากครู 3

          ปัญหาจากการรับครูอัตราจ้าง
          ปัญหาจากการรับครูอัตราจ้าง ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่กัดกินระบบการศึกษาไทยมานาน การประกาศรับสมัคร หรือแม้กระทั่งการสอบ ยังคงเป็นแค่เพียงหลักเกณฑ์ที่ต้องทำให้ถูกต้องเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ก็เหมือนกับในวงการของราชการไทยทั่วๆไป มีเด็กฝาก เด็กเส้น ผลที่ได้จากการสอบนั้น ไม่ได้เอามาใช้ในการพิจารณารับครูอัตราจ้างแต่อย่างใด ทำให้ผู้ที่มาสมัครรายอื่นๆ ผู้ที่มีความสามารถที่แท้จริง ไม่ได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง และผู้ที่ฝาก หรือรับฝาก จนกระทั่งผู้ที่ถูกคัดเลือกให้เข้าเป็นครูอัตราจ้างนั้น ก็มิได้มีจิตสำนึกถึงความถูกต้อง ความยุติธรรมซักเท่าไร หากเป็นเช่นนี้แล้ว จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียนได้อย่างไร เพียงแค่ต้องการที่จะเข้าไปเป็นครูอัตราจ้างเ พื่อที่จะหาช่องทางในการบรรจุครูในภายหลัง จากการกระทำดังกล่าว ทำให้เกิดผลตามมาอีกมากมายต่อการศึกษาไทย ตั้งแต่การเสียงบประมาณในการว่าจ้างคนที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพ (เนื่องจากผู้ที่มีประสิทธิภาพกว่าถูกคัดออก) การเสียบุคลากรที่มีคุณภาพ (เนื่องจากเลือกคนจากเส้นสายเข้าไป) การได้คนที่ขาดคุณธรรม จริยธรรม และความยุติธรรม เข้ามา นอกจากนี้ หากครูคนใดที่สอนอยู่โรงเรียนเอกชนอยู่แล้ว พอได้รับการเรียกตัวให้ไปเป็นครูอัตราจ้างแล้ว ก็มักจะละทิ้งที่เดิมไปที่ใหม่ โดยไม่ได้สนใจว่าจะมีผลกระทบต่อนักเรียนแต่อย่างใด และเนื่องด้วยเหตุนี้ การรับครูอัตราจ้าง ก็จะได้คนที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อนักเรียนอีกด้วย
          ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพของครูได้อีกด้วย การศึกษาไทยจะได้พัฒนาอย่างยั่งยืน 

Sunday, January 16, 2011

ปัญหาการศึกษาไทยที่เกิดจากครู 2

          นอกจากปัญหาในการเลือกคณะของนักเรียน ซึ่งเป็นค่านิยมที่มีมานานแล้ว ปัญหาที่ตามมาก็คือ ปัญหาการขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ
          ปัญหาการขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ
          ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า คนเก่งๆมักไม่ค่อยสนใจมาเป็นครู เพราะว่ามีงานอื่นที่ดีกว่า สามารถทำเงินได้ดีกว่า มีค่าตอบแทนที่ดีกว่า ทำให้สถาบันการศึกษาต้องรับคนที่มีผลการเรียนตํ่ามาเป็นครู การเป็นครูกลายเป็นอาชีพแบบราชการหรือพนักงานบริษัททั่วไป ครูไม่ได้พอใจหรือมีความสุขในความเป็นครูมากนัก เพราะเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบสูง งานหนัก ซํ้าซาก และได้ค่าตอบแทนตํ่า เลยทำให้คุณภาพครูโดยรวมแล้วอยู่ในเกณฑ์ตํ่า นอกจากนี้ความก้าวหน้าในอาชีพของตนเองค่อนข้างจะยาก โดยเฉพาะครูโรงเรียนเอกชน ซึ่งการหาครูที่มีคุณภาพยิ่งยากขึ้นไปอีก เนื่องจากครูที่พอจะมีโอกาส มักจะไปเป็นครูอัตราจ้าง หรือไปสอบเพื่อที่จะบรรจุเป็นครูของรัฐบาล อีกทั้งในการผลิตครูของสถาบันการศึกษา สายคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ก็ยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงเรียน ซึ่งยังคงขาดอีกมาก หากจะลองย้อนกลับไปที่เรื่องคนเก่งๆมักไม่ค่อยสนใจมาเป็นครูแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่า คนเก่งๆที่ว่า มักจะเป็นคนที่เก่งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเราถึงขาดแคลนครูคณิตศาสตร์ กับวิทยาศาสตร์
          เป็นความต่อเนื่องมาจากค่านิยม ทำให้เราถึงขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ อันที่จริง เราไม่จำเป็นที่จะต้องเอาคนเก่งมาเป็นครูทั้งหมด หากคนเก่งแค่บางส่วนตั้งใจที่จะเป็นครูแล้ว คุณภาพครูก็จะดีขึ้น ส่งผลให้คุณภาพผู้เรียนดีขึ้นด้วย ยังไงก็แล้วแต่ ได้กล่าวมาแล้วว่ายังคงมีองค์ประกอบอื่นๆอยู่อีกมาก ที่จะทำให้เราได้ครูดี มีคุณภาพ อย่างที่ทุกคนต้องการ

Saturday, January 15, 2011

ปัญหาการศึกษาไทยที่เกิดจากครู 1

          ปัญหาความล้มเหลวของการศึกษาไทยส่วนหนึ่งต้องยอมรับกันว่าเกิดมาจากครู ตั้งแต่ค่านิยมจนกระทั่งถึงความรับผิดชอบของครู ซึ่งจะได้กล่าวถึงปัญหาเป็นด้านๆไป
          ปัญหาจากค่านิยม
          ในการสอบแข่งขันคัดเลือกเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เท่าที่ผ่านมา ค่านิยมในการเลือกคณะ นักเรียนที่เรียนดี เรียนเก่ง มักจะมีแนวคิดในการเลือกคณะแพทย์ศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เป็นอันดับต้นๆ ส่วนที่เลือกเรียนครูนั้นแทบจะไม่มี (อาจบอกได้ว่าไม่มีเลย) ส่วนจะให้นักเรียนที่เรียนไม่เก่งมาสอบแข่งขัน สู้กับนักเรียนที่เรียนเก่งแล้วก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นที่กล่าวขานกันว่า นักเรียนที่เรียนอะไรไม่ได้จึงเข้าเรียนครู ทำให้ภาพลักษณ์ของครู และคุณภาพการศึกษาตกตํ่าลงมาก (รุ่ง แก้วแดง, 2544 :131)
          จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่เกิดมาจากค่านิยมนั้นเป็นปัญหาที่สำคัญปัญหาหนึ่งของครู ของการศึกษาไทย เลยทีเดียว หากเราสามารถปรับเปลี่ยนค่านิยมในการเลือกเรียนได้บ้าง การศึกษาไทยก็อาจจะดีขึ้น แต่ก็คงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นที่จะเข้ามาเสริมด้วย เช่น เงินเดือน และสวัสดิการต่างๆ เป็นต้น

Thursday, January 13, 2011

การศึกษาไทย

          น่าแปลกที่การแข่งขันโอลิมปิกทางวิชาการที่ผ่านๆมา นักเรียนไทยสามารถคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันมากมายหลายประเภท แต่ว่าผลสัมฤทธิ์การศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยรวมแล้ว เราได้คะแนนต่ำกว่าประเทศอื่นๆ นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับนานาประเทศแล้วจะพบว่า การจัดการศึกษาของประเทศไทยที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณในการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการสูงมาก แต่ผลสัมฤทธิ์กลับน้อยกว่าทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ ซึ่งจากผลการประเมินความสามารถในการแข่งขันนานาชาติของ IMD (International Institute for Management Development) ได้จัดอันดับให้การศึกษาไทยมีคุณภาพอยู่ในลำดับที่ 46 จาก 60 ประเทศ (โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย, 2550 : 7) สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้ได้ว่า แท้จริงแล้วการศึกษาไทยเราเป็นอย่างไร การดำเนินการจัดการศึกษาของไทยแทบจะบอกได้ว่าล้มเหลวมาโดยตลอด
          ปัญหาความล้มเหลวของการศึกษาไทย อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาที่มาจากครูผู้สอน ปัญหาจากระบบอุปถัมป์ในการรับครูอัตราจ้างหรือบรรจุครู ปัญหาจากการบริหารงานทั้งระดับประเทศจนถึงระดับสถานศึกษา รวมทั้งปัญหาจากสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเด็ก เช่นปัญหาจากครอบครัว ปัญหาที่เกิดจากสื่อ เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้ไม่ได้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของใครโดยตรง แต่เป็นหน้าที่ของทุกๆคน เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา รวมทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชนต่างๆ
          ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกคนจะร่วมมือกันในการแก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ เยาวชนคืออนาคตของชาติ ช่วยกันมอบสิ่งดีๆให้พวกเขาเถอะ